ไม่ได้มีไว้แค่ย่อยอาหาร รู้จักกับสุขภาพลำไส้ อวัยวะที่สำคัญไม่แพ้หัวใจ

author : วิลสัน วันเดอร์แลนด์

Read

Date : 1 Apr 2021

        “โรคทั้งหมดเริ่มต้นที่ลำไส้” ย้อนกลับไปเมื่อ 2 พันปีที่แล้ว คุณปู่ทวดฮิปโปเครตีส (Hippocrates) ผู้บุกเบิกวิชาแพทย์แผนปัจจุบันกล่าวไว้อย่างมาดมั่น ในฐานะที่ได้รับยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งวงการแพทย์ เราเชื่อว่าคำพูดนี้ย่อมไม่ใช่แค่วลีล่องลอยกลางอากาศอย่างแน่นอน

       ควรกินหรือห้ามกินอะไรเวลาปวดท้อง เป็นอีกหนึ่งคำถามยอดฮิตที่คุณหมอ Google ได้รับจากช่องพิมพ์ค้นหาบ่อยที่สุดเมื่อพูดถึงสุขภาพลำไส้ อาจดูเหมือนเป็นเรื่องทั่วไป แต่แค่อาการธรรมดาอย่างปวดที่ท้องหรือความทุกข์แบบเบสิคที่เกิดจากปัญหาสุขภาพลำไส้และเรามองข้ามไป เช่น ท้องเสีย ท้องผูก ล้วนมีพลังทำลายล้างที่รบกวนการใช้ชีวิตอย่างไม่ธรรมดา

        แล้วคำว่า สุขภาพลำไส้ คืออะไรกันแน่ อาจฟังดูไม่สำคัญเท่าอวัยวะอื่นๆ แต่ bioshot ที่รู้จักกันดีว่าเป็นซินไบโอติกส์เจ้าแรกๆ ในไทยกลับยืนหยัดที่จะให้ความสำคัญและคอยใส่ใจเรื่องสุขภาพลำไส้ซึ่งจะกลายมาเป็นคุณภาพชีวิตที่ดีของเรา

ท้อง-Site พื้นที่แห่งจิตวิญญาณ

        เป็นที่ยอมรับกันในแพทย์ชาวเอเชียว่า ‘ท้อง’ คือพื้นที่แห่งจิตวิญญาณ ชาวญี่ปุ่นถึงกับนิยามอวัยวะส่วนที่ใหญ่ที่สุดของเราอย่างลำไส้ว่าเป็น ‘ส่วนกลางอันทรงเกียรติ’ (Onaka) รวมถึง ‘ใจกลางของความแข็งแกร่งทางจิตวิญญาณและร่างกาย’ (Hara) ต่างกับชาวยุโรปที่ส่วนมากมองว่าลำไส้ไม่ได้สำคัญไปกว่าแค่เป็นอวัยวะสำหรับย่อยอาหาร และอาจเพราะในโลกตะวันตกมีผู้ป่วยโรคระบบทางเดินอาหารสูงขึ้น ความสำคัญของสุขภาพลำไส้จึงเพิ่มตามไปด้วย

การไม่มีโรค เป็นลำไส้อันประเสริฐ

        องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้นิยามของคำว่า ‘สุขภาพ’ ไว้ว่าเป็นขั้นกว่าของวลี ‘ไม่มีโรค’ สุขภาพลำไส้ดีจึงหมายถึงสถานะความเป็นอยู่ที่ดีของร่างกายและจิตใจ ไม่มีโรคภัยจากระบบทางเดินอาหารร้ายแรงอย่างเช่น โรคมะเร็งลำไส้ โรคกระเพาะอาหารแปรปรวน โรคลำไส้แปรปรวน (IBS) อาการท้องอืด กรดไหลย้อน คลื่นไส้อาเจียน ท้องผูก ท้องร่วง ภูมิแพ้อาหารแฝง หรืออุจจาระเป็นเลือด มาคอยตามรังควานจนต้องปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

แม้ว่าส่วนใหญ่แล้วอาการป่วยจากระบบทางเดินอาหารจะไม่ร้ายแรงจนทำให้ต้องโบกมือลาโลก แต่ก็ส่งผลต่อคุณภาพการใช้ชีวิตประจำวันไม่น้อย ระบบทางเดินอาหารมีส่วนช่วยเสริมสุขภาพโดยรวมหลายด้านและการทำงานของลำไส้ก็ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ย่อยหรือดูดซึมสารอาหารเพียงอย่างเดียว

ลำไส้และจุลินทรีย์ Dream Team ของคนสุขภาพดี

        นอกจากย่อยอาหาร ลำไส้ยังทำงานร่วมกับจุลินทรีย์ในร่างกาย กระตุ้นภูมิคุ้มกันและดูแลการทำงานของระบบประสาทด้วย มีผลการทดลองที่น่าทึ่งของหนูทดลองปลอดเชื้อ ซึ่งทำให้เรารู้ว่าจุลินทรีย์ในลำไส้มีผลโดยตรงกับการทำงานของระบบทางเดินอาหาร รวมถึงพฤติกรรมและการทำงานของสมอง

        แน่นอนว่างานหลักๆ ของลำไส้คือย่อยอาหารที่เรารับประทาน ช่วยให้ร่างกายดูดซึมสารอาหาร แร่ธาตุต่างๆ แล้ว จุลินทรีย์ในลำไส้ยังเป็นทีมสำคัญที่ช่วยป้องกันร่างกายเชื้อโรค ช่วยย่อยเส้นใยที่ร่างกายดูดซึมไปใช้ไม่ได้ แล้วเปลี่ยนมาเป็นพลังงานและวิตามินให้กับร่างกาย

        คำถามคือจุลินทรีย์ตัวเล็กๆ กว่าล้านล้านตัวป้องกันลำไส้ได้อย่างไร ลองนึกว่าลำไส้เป็นเมืองขนาดใหญ่ ล้อมรอบไปด้วยกำแพงหนา ที่มีแบคทีเรียหรือจุลินทรีย์ไม่ดีคอยจ้องจะเข้ามาฮุบพื้นที่รอบกำแพงอยู่เสมอ เพื่อหวังยึดครองเมืองที่ชื่อว่าลำไส้ แต่หากเมืองลำไส้มีจุลินทรีย์ดีโปรไบโอติกส์เฝ้าอยู่เป็นจำนวนมาก ก็จะช่วยป้องกันการตั้งรกรากของแบคทีเรียหรือจุลินทรีย์ตัวไม่ดีที่เรียกกันในวงการว่า จุลินทรีย์ก่อโรค ซึ่งจะเข้ามาทำให้เราป่วย

ภูมิคุ้มกันจากลำไส้

        ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้สุขภาพดีหรือไม่ดี มาจากลำไส้เป็นส่วนใหญ่ เพราะเซลล์ภูมิคุ้มกันกว่า 70 เปอร์เซ็นต์อาศัยอยู่ตามทางเดินอาหาร นั่นหมายความว่าหากลำไส้ดี สุขภาพก็จะดีตามไปด้วย อย่างที่เราทราบแล้วว่าโปรไบโอติกส์จะเกาะอยู่กับผนังลำไส้ที่เป็นเหมือนกำแพงป้องกัน คอยสแตนบายแย่งพื้นที่ไว้ไม่ให้จุลินทรีย์ก่อโรคข้ามมายึดได้

        หากลำไส้และระบบทางเดินอาหารทำงานเป็นปกติ เซลล์ภูมิคุ้มกันที่อยู่รอบบริเวณก็แข็งแรง ระบบประสาทที่เชื่อมอยู่กับลำไส้ก็สั่งงานอย่างราบลื่น ร่างกายแข็งแรงจิตใจก็แข็งแกร่ง

สุขภาพลำไส้ดี ดูแลแบบช็อตต่อช็อต

        ป้องกันสำคัญกว่ารักษา คือสิ่งสำคัญที่ควรนึกถึงเมื่อพูดถึงสุขภาพลำไส้

        เราเริ่มต้นดูแลลำไส้ได้ด้วยการให้อาหารจุลินทรีย์ในลำไส้ อย่างรับประทานผักที่มีเส้นใยสูง ซึ่งจะช่วยให้ระบบการย่อยเป็นปกติ เลี่ยงอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลฟรุกโตสสูงจนรบกวนการทำงานของระบบทางเดินอาหาร รวมถึงเนื้อแดงที่ทำให้เสี่ยงเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

       ลำไส้ที่ดีคือลำไส้ที่สามารถย่อยและการดูดซึมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปราศจากโรคทางเดินอาหาร และมีจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหารสมดุล คือจุลินทรีย์ดีมากกว่าจุลินทรีย์ไม่ดี bioshot เต็มไปด้วยจุลินทรีย์ดีโปรไบโอติกส์ที่มีชีวิตสูงสุด 11 ชนิด ไม่ว่าจะเป็น Bifidobacterium longum, Bifidobacterium bifidum, Lactobacillus acidophilus และอีกหลากหลายที่ช่วยปรับสมดุลระบบขับถ่าย เสริมภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย เพราะสุขภาพลำไส้เป็นประตูสู่สุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี

 

อ้างอิง

https://bmcmedicine.biomedcentral.com/articles/10.1186/1741-7015-9-24
https://www.gutmicrobiotaforhealth.com/why-gut-health-comes-up-in-conversation-so-often-five-dietitians-define-gut-health-and-discuss-why-taking-care-of-it-is-so-important/

นมจากยีสต์ ที่ใช้ทดแทนนมวัวได้ ไม่ทำร้ายสัตว์และสิ่งแวดล้อม

author : วิลสัน วันเดอร์แลนด์

READ

Date : 10 Feb 2021

        จะดีแค่ไหนถ้าได้ดื่มนมวัว โดยที่ไม่ต้องทรมานแม่วัว

        หลายปีมานี้วงการด้านเทคโนโลยีชีวภาพทั่วโลกต่างพากันมองหาสิ่งที่จะนำมาใช้ทดแทนนมวัว ในอุตสาหกรรมผลิตนม เนื่องจากความต้องการนมวัวที่เพิ่มขึ้นในช่วงหลังมานี้เพิ่มความความทุกข์ทรมานให้กับแม่วัว จากการเลี้ยงที่ต้องทำทุกอย่างเพื่อให้ได้น้ำนมเพียงพอสำหรับตลาด โดยศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัย Tel Aviv ได้เริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงนี้ด้วยการนำยีสต์มาใช้แทน

PIC A Photo by Mehrshad Rajabi on Unsplash

        เมื่อพูดถึงนมจากยีสต์ หลักการในการผลิตที่นักวิจัยยึดถือคือจะต้องได้น้ำนมที่รสสัมผัสและกลิ่นไม่ต่างกับนมวัว รวมถึงคุณค่าทางโภชนาการสำคัญที่ได้จากนมสัตว์ก็ต้องไม่หายไป ผู้คนจะได้ดื่มนมวัวในรสชาติที่คุ้นเคยและสารอาหารครบถ้วนแต่ไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อม ไม่ต้องทรมานวัวแม่พันธุ์ นักวิจัยยังบอกอีกว่าอันที่จริงนมจากยีสต์จะให้ประโยชน์กับผู้บริโภคมากกว่านมวัวอีกด้วย เนื่องจากไม่มีคอเลสเตอรอลและแลคโตส นั่นหมายความว่าใครที่แพ้แลคโตสในนมวัวก็สามารถลิ้มรสชาติของนมจากนมยีสต์ได้โดยไม่ต้องกลัวท้องเสีย

 

” นมจากยีสต์จะให้ประโยชน์กับผู้บริโภคมากกว่านมจากวัว เนื่องจากไม่มีคอเลสเตอรอลและแลคโตส “

 

        นักวิทยาศาสตร์ยังเชื่อว่าในเวลาอันใกล้นี้เราจะได้ดื่มนมจากยีสต์ที่มีโปรตีนในราคาไม่แพงและคุณภาพสูง นอกจากยีสต์แล้วยังมีการต่อยอดทดลองผลิตนมจากจุลินทรีย์ ซึ่งทั้งยีสต์และจุลินทรีย์ดีต่างก็เป็นสิ่งที่คอยช่วยดูแลลำไส้ของเรา จุลินทรีย์ชนิดดีอย่างโปรไบโอติกส์จะช่วยให้ระบบย่อยอาหารและลำไส้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ แม้ว่านมจากจุลินทรีย์อาจมีราคาแพง แต่ก็นับเป็นโจทย์ที่ผู้เชี่ยวชาญต้องแก้ปัญหาต่อไป เพื่อให้ได้นมยีสต์รสชาติเหมือนนมวัวและเต็มไปด้วยสารอาหารครบถ้วน

        ในอีกไม่กี่ปีหลังจากนี้เราอาจมีนมจากยีสต์หรือจุลินทรีย์ที่วางขายทั่วไปไม่ต่างจากนมวัวในปัจจุบันก็ได้ใครจะไปรู้

        blissly bioshot ไม่ใช่นมจากจุลินทรีย์แต่เป็นจุลินทรีย์ดีโปรไบโอติกส์ที่มีชีวิตสูงสุด 11 ชนิด และพรีไบโอติกส์ 2 ชนิด รสโยเกิร์ต มั่นใจได้ว่าเชื้อทนต่อกรดในกระเพาะและเหมาะกับสภาพอากาศประเทศไทย ช่วยปรับสมดุลระบบขับถ่าย ระบบประสาท เสริมภูมิคุ้มกันให้ร่างกายได้ง่ายและอร่อยเพียงวันละช็อต

สร้างนิสัยสุขภาพดี แม้ในวันที่เร่งรีบ

สั่งซื้อ

 

อ้างอิง
https://phys.org/news/2021-01-yeast-cow.html

เรื่องของการจูบและการแลกเปลี่ยนจุลินทรีย์ในปาก

author : Mathilda

READ

Date : 4 Feb 2021

        ทำไมคนเราถึงจูบกัน

       แม้จะพยายามหาคำตอบ แต่นักวิทยาศาสตร์ส่วนหนึ่งก็อธิบายได้เพียงว่าอาจเพราะจูบแล้วรู้สึกดี จูบแล้วทำให้ฮอร์โมนออกซิโทซินหลั่งช่วยให้รู้สึกผูกพันกันมากขึ้น

        จูบแลกความรู้สึกดี – จูบแลกจุลินทรีย์

        ปากของเราเต็มไปด้วยจุลินทรีย์หลายล้านชนิด ที่ตั้งรกรากอยู่ไม่ว่าจะเป็นบริเวณช่องว่างระหว่างฟันหรือลิ้น ซึ่งจัดเป็นอวัยวะที่ยืดหยุ่นที่สุดในร่างกาย จุลินทรีย์ดีจะคอยช่วยป้องกันช่องปากไม่ให้ต้องเจอกับปัญหาต่างๆ จากเชื้อก่อโรค เช่น คราบพลัค เหงือกอักเสบ ที่ทำให้มีกลิ่นปากตามมา

        เมื่อเราจูบใครสักคน นอกจากฮอร์โมนออกซิโทซิน (Oxytocin) หรือภาษาบ้านๆ เรียกว่าฮอร์โมนความรักที่หลั่งไหลเข้ามาขณะจูบแล้ว เรายังได้รับจุลินทรีย์ประมาณ 80 ล้านตัวด้วย ในระหว่างที่จูบแบบ French Kiss อย่างดูดดื่มมากกว่า 10 วินาทีขึ้นไป จุลินทรีย์จะแลกเปลี่ยนกันในปาก

 

” จุลินทรีย์ดีจะคอยช่วยป้องกันช่องปากไม่ให้ต้องเจอกับปัญหาต่างๆ จากเชื้อก่อโรค เช่น คราบพลัค เหงือกอักเสบ “

 

        ไม่ใช่แค่เดาสุ่มๆ นักวิจัยจริงจังกับเรื่องนี้ถึงขั้นรวบรวมอาสาสมัครคู่รัก 21 คู่ ที่มีอายุระหว่าง 17 ถึง 45 เพื่อสุ่มตัวอย่างจุลินทรีย์ในปากของคู่รักแต่ละคน สิ่งที่น่าสนใจคือคู่รักมักจะมีจุลินทรีย์ในช่องปากที่คล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะจุลินทรีย์บนผิวลิ้น แม้ว่าจุลินทรีย์ในร่างกายแต่ละคนจะต่างกันยิ่งกว่า DNA ก็ตาม

PIC B Photo by https://microbiomejournal.biomedcentral.com

        ข้อสังเกตของนักวิจัยคือ อาจเป็นเพราะคู่รักมีกิจวัตรและนิสัยการใช้ชีวิตคล้ายกัน ไม่ว่าจะเป็นการรักษาสุขอนามัยในช่องปาก หรือการสูบบุหรี่ และยังมีแนวโน้มว่าคู่รักมักแลกเปลี่ยนจุลินทรีย์ของกันและกันเป็นประจำจากการแสดงความรักของทั้งคู่ คำถามคือจุลินทรีย์ที่เริ่มเปลี่ยนมาคล้ายกันนั้น เปลี่ยนแปลงขนาดไหน นักวิจัยหาคำตอบโดยให้คู่รักจูบกัน หลังจากคนหนึ่งดื่มโยเกิร์ตที่เต็มไปด้วยโปรไบโอติกส์ 2 สายพันธุ์คือ Lactobacillus และ Bifidobacterium

        นอกจากพบมากในโยเกิร์ตแล้ว ถ้าลองส่องเข้าไปในน้ำลายของเราจะพบ Lactobacillus และ Bifidobacterium อยู่ในนั้นประมาณ 0.15 เปอร์เซ็นต์และ 0.01 เปอร์เซ็นต์ของจุลินทรีย์ทั้งหมดที่พบบนลิ้น ซึ่งก็ยังถือว่าพบได้น้อย แต่เมื่อนักวิทยาศาสตร์ตรวจดูน้ำลายและลิ้นของคู่รักหลังการจูบโดยดื่มโยเกิร์ตมาก่อน พบว่าทั้งคู่มีระดับจุลินทรีย์ดีเพิ่มขึ้นถึงเกือบครึ่งของจุลินทรีย์ทั้งหมดในน้ำลายและที่ลิ้น ซึ่งจุลินทรีย์ดีเหล่านี้มีส่วนช่วยสร้างสมดุลของจุลินทรีย์ที่อยู่ในช่องปาก

 

” หลังการจูบโดยดื่มโยเกิร์ตมาก่อน พบว่าคู่รักมีระดับจุลินทรีย์ดีเพิ่มขึ้นถึงเกือบครึ่งของจุลินทรีย์ทั้งหมดในน้ำลายและลิ้น “

 

        ความจริงจังไม่ได้จบแค่การทดลองนี้ เพราะถ้าเรานั่งเครื่องไปที่ Micropia พิพิธภัณฑ์จุลินทรีย์แห่งแรกของโลกในอัมสเตอร์ดัมจะพบกับเครื่องวัดการจูบ ที่มีชื่อว่า Kiss-O-Meter โดยเครื่องนี้จะวิเคราะห์การจูบของคู่รักด้วยการวัดจำนวนจุลินทรีย์ที่ทั้งคู่เพิ่งแลกเปลี่ยนให้กันและกัน

       ทำไมคนเราถึงจูบกัน

        ไม่แน่ว่าเหตุผลของการจูบอาจมีมากกว่าแค่ความรู้สึกดี แต่ร่างกายวิวัฒนาการมาเพื่อให้เราได้แลกเปลี่ยนและกระจายความหลากหลายของจุลินทรีย์ เพื่อความอยู่รอดของมนุษยชาติ เหมือนกับที่ส่วนประกอบในนมแม่คืออาหารชั้นเลิศสำหรับจุลินทรีย์ดีในลำไส้ไม่ใช่แค่เพียงช่วยให้อิ่มท้องเท่านั้น

 

อ้างอิง

https://microbiomejournal.biomedcentral.com/articles/10.1186/2049-2618-2-41

https://www.scientificamerican.com/article/beat-bad-breath-keep-mouth-bacteria-happy/

โปรไบโอติกส์ ตัวแทนความรักจากจุลินทรีย์ถึงลำไส้

author : วิลสัน วันเดอร์แลนด์

READ

Date : 2 Jan 2021

        โปรไบโอติกส์คือผู้เชี่ยวชาญด้านปัญหาลำไส้ ถ้าการได้รับของขวัญวันวาเลนไทน์ช่วยให้หัวใจกระชุ่มกระชวย การได้รับโปรไบโอติกส์ทุกวันก็ช่วยให้ลำไส้มีกําลังวังชาเช่นกัน

        ลำไส้ นับเป็นอวัยวะสำคัญที่มักถูกมองข้ามเป็นอันดับต้นๆ หลายคนดูแลสมอง ดูแลหัวใจ แต่มักลืมดูแลและมอบความรักให้กับลำไส้ อาจเหมือนไร้ตัวตน แต่อันที่จริงลำไส้ประกอบด้วยจุลินทรีย์นับล้านล้านตัวที่ส่งผลกับระบบต่างๆ ในร่างกาย เป็นที่รวมตัวของเซลล์ภูมิคุ้มกัน และยังมีระบบประสาทเชื่อมโยงกับสมองอีกด้วย

        ศาสตราจารย์ไช่อิงเจี๋ย เจ้าของหนังสือลำไส้ดี ชีวียืนยาว ได้แลกเปลี่ยนความรู้ไว้ในหนังสือว่านอกจากปัญหาท้องผูก ที่เราคุ้นเคยว่าแก้ได้ด้วยโปรไบโอติกส์ โดยมักจะได้ยินคำแนะนำว่าให้รับประทานโยเกิร์ตหรือดื่มนมเปรี้ยวเมื่อมีอาการท้องผูกแล้ว โปรไบโอติกส์ก็ยังช่วยแก้ปัญหาอื่นๆ ในลำไส้ได้เช่นกัน

 

” เราไม่ควรรอให้ท้องผูกแล้วจึงค่อยรับประทานโปรไบโอติกส์ แต่ควรรับประทานโปรไบโอติกส์สม่ำเสมอ “

 

        หากพูดถึงอาการท้องผูก วิธีที่ดีที่สุดที่ช่วยบรรเทาอาการท้องผูกคือรับประทานโปรไบโอติกส์ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกาย ศาสตราจารย์ไช่อิงเจี๋ยยืนยันว่าเราไม่ควรรอให้ท้องผูกแล้วจึงค่อยรับประทานโปรไบโอติกส์ แต่ควรรับประทานโปรไบโอติกส์สม่ำเสมอ เมื่อจุลินทรีย์ดีในลำไส้เพิ่มขึ้น จะทำให้กรดไขมันห่วงโซ่สั้นเข้มข้นช่วยกระตุ้นให้ลำไส้บีบตัว เมื่อลำไส้บีบตัวจึงขับถ่ายได้คล่องนั่นเอง

        นอกจากท้องผูกแล้ว อาการท้องร่วงก็บรรเทาได้ด้วยโปรไบโอติกส์เช่นกัน อาการท้องเสียหรือท้องร่วงที่หลายคนคุ้นเคยอาจเกิดจากเชื้อโรค ไวรัส จนทำให้ลำไส้ใหญ่บีบตัวผิดปกติ การรับประทานจุลินทรีย์โปรไบโอติกส์เป็นประจำจะช่วยปรับสภาพจุลินทรีย์ในลำไส้ ป้องกันอาการท้องร่วงที่เกิดจากการติดเชื้อหรือมีจุลินทรีย์ไม่ดีในลำไส้ โปรไบโอติกส์ยังช่วยบรรเทาอาการท้องร่วงที่เกิดจากความเครียด โรคลำไส้แปรปรวนหรืออาการท้องร่วงที่มีสาเหตุซับซ้อนได้ในระดับหนึ่งด้วย

        นอกจากนี้โปรไบโอติกส์ยังช่วยดูแลระบบย่อยอาหารของเรา ไม่ว่าจะท้องผูกหรือท้องเสีย หากไม่ละเลยที่จะมอบความรักให้กับลำไส้ด้วยการรับประทานจุลินทรีย์ดีโปรไบโอติกส์เป็นประจำก็สามารถป้องกันเชื้อไม่ดีที่จะเข้ามารุกรานจนทำให้ลำไส้เจ็บป่วย

        bioshot เต็มไปด้วยโปรไบโอติกส์มีชีวิตสูงสุด 11 ชนิด ไม่ว่าจะเป็น Bifidobacterium longum, Bifidobacterium bifidum, Lactobacillus acidophilus และอีกหลากหลายที่ช่วยปรับสมดุลระบบขับถ่าย เสริมภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย เพียงวันละช็อต

การตกหลุมรักของคน นกยูง และจุลินทรีย์ที่มีอิทธิพลต่อการเลือกคู่

author : วิลสัน วันเดอร์แลนด์

READ

Date : 29 Jan 2021

        อาจพูดได้ว่าเราไม่ได้อยู่ตัวคนเดียวบนโลกใบนี้ เพราะคุณ Nicole King นักชีววิทยาด้านวิวัฒนาการได้เคยแลกเปลี่ยนแนวคิดที่น่าสนใจว่าร่างกายของเราคือระบบนิเวศซึ่งประกอบด้วยสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กอย่างจุลินทรีย์อาศัยอยู่ จุลินทรีย์เหล่านี้มีอิทธิผลต่อเราทั้งภายนอกและภายในร่างกาย

        ความรักคืออะไร ยังคงเป็นปริศนาในใจสำหรับใครหลายคน ทำไมเราจึงตกลงปลงใจและเลือกรัก “เขา” หรือ “เธอ” แทนที่จะเป็นคนอื่นอีกหลายร้อยหลายล้านคนบนโลก นักวิทยาศาสตร์เองก็ยังคงตามหาคำตอบเกี่ยวกับความโรแมนติกนี้เช่นกัน ที่พอจะทำความเข้าใจได้บ้างเกี่ยวกับกฎพื้นฐานด้านวิวัฒนาการทางชีววิทยาคือ มนุษย์เรามักจะมีสัญชาตญาณว่าควรสนใจคู่ครองที่สามารถเป็นพ่อแม่ที่ดีและให้กำเนิดทายาทที่มีคุณภาพ เรียกว่าเป็นพื้นฐานแนวคิดง่ายๆ เพราะหากเราเลือกคู่ที่ไม่แข็งแรงหรือไม่พร้อมเป็นพ่อแม่ ก็มักจะให้กำเนิดลูกได้น้อยหรือมีอัตราการรอดชีวิตต่ำ และนั่นอาจทำให้มนุษย์เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ อาจฟังดูสมเหตุสมผลตามที่ควรจะเป็น แต่เรากลับพบความเป็นจริงที่ขัดแย้งกันคือ ดูเหมือนว่าการดึงดูดของคู่รักในชีวิตจริงมักจะไม่สอดคล้องกับแนวโน้มการเป็นพ่อแม่ที่ดี ตามกฎพื้นฐานด้านวิวัฒนาการทางชีววิทยา

 

” แต่เรากลับพบความเป็นจริงที่ขัดแย้งกันคือ ดูเหมือนว่าการดึงดูดของคู่รักในชีวิตจริงมักจะไม่สอดคล้องกับแนวโน้มการเป็นพ่อแม่ที่ดี “

 

        ใบหน้าของผู้ชายถูกทำให้เด่นชัดขึ้นด้วยฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) หรือภาษาปากคือ ฮอร์โมนเพศชาย เป็นฮอร์โมนที่กระตุ้นให้ผู้ชายมีลักษณะความเป็นชาย เช่น มีคางกว้าง ดวงตาลึก สันกรามคม มีขนตามร่างกาย โดยทั่วไปแล้ว ยิ่งผู้ชายมีฮอร์โมนเพศชายมากก็ยิ่งมีแนวโน้มที่จะดึงดูดผู้หญิงมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็มีแนวโน้มที่จะเป็นพ่อแม่ที่ไม่ดีเมื่อเทียบกับผู้ชายที่มีฮอร์โมนเพศชายต่ำ อาจดูเหมือนเหมารวมสักหน่อย เพราะมีงานวิจัยที่บอกว่าผู้ชายที่มีฮอร์โมนเพศชายสูงมักจะมีพฤติกรรมต่อต้านสังคมและมีโอกาสแต่งงานน้อย ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ชายที่มีฮอร์โมนเพศชายสูงจะมีพฤติกรรมแบบนี้ทุกคน

       เมื่อพูดถึงลักษณะความเป็นชาย เราเทียบคางที่กว้างของผู้ชายว่าคล้ายกับหางของนกยูงตัวผู้ ซึ่งนกยูงตัวผู้ที่มีหางเด่น จะกลายเป็นอุปสรรคต่อการอยู่รอด ถ้านึกตามแนวคิดพื้นฐาน นกยูงตัวเมียควรจะหาคู่เป็นนกยูงตัวผู้ที่มีหางเรียบๆ ไม่โดดเด่นฉูดฉาด เพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ของตัวเอง แต่การศึกษาจำนวนมากกลับแสดงให้เห็นว่า แม้หางอันงดงามของนกยูงตัวผู้จะเป็นอุปสรรคต่อการอยู่รอด แต่นกยูงตัวเมียก็ยังคงพบว่ามันน่าดึงดูด เช่นเดียวกับที่ผู้หญิงชอบผู้ชายที่มีฮอร์โมนเพศชายเด่นนั่นเอง

        ความน่าสนใจคือ การที่นกยูงตัวผู้มีหางยาวสวยก็เหมือนกับเป็นการโฆษณาประกาศศักดาให้ตัวเมียรู้ถึงความแข็งแกร่ง เพราะนกยูงที่มีหางยาวกว่ามักจะมีระบบภูมิคุ้มกันดีกว่านกยูงหางสั้น นกยูงตัวเมียที่ผสมพันธุ์กับนกยูงตัวผู้หางยาวมักจะได้ลูกตัวใหญ่ ถึงแม้หางเด่นๆ นั้นจะทำให้นักล่ามองเห็นได้ง่ายและเสี่ยงชีวิตมากกว่า แต่นกยูงตัวเมียก็ยังคงรู้สึกว่าตัวผู้ที่มีหางยาวสวยน่าดึงดูดกว่า ลักษณะภายนอกของผู้ชายที่บ่งบอกว่ามีฮอร์โมนเพศชายสูงก็ทำหน้าที่คล้ายกันกับหางอันสวยหรูของนกยูงตัวผู้คือเป็นการโฆษณาว่าตัวเองมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่งกว่า เมื่อผู้หญิงรู้สึกว่าใบหน้าผู้ชายที่โดดเด่นน่าดึงดูดมากกว่า อาจเป็นไปได้ว่ามาจากเหตุผลแบบเดียวกันกับนกยูงตัวเมีย

 

” การศึกษาจำนวนมากแสดงให้เห็นว่า แม้หางอันงดงามของนกยูงตัวผู้จะเป็นอุปสรรคต่อการอยู่รอด แต่นกยูงตัวเมียก็ยังคงพบว่ามันน่าดึงดูด เช่นเดียวกับที่ผู้หญิงชอบผู้ชายที่มีฮอร์โมนเพศชายเด่น “

 

        ในการศึกษาความแตกต่างของ 29 วัฒนธรรม นักจิตวิทยาพบว่ากลุ่มคนในสถานที่ที่ให้ความสำคัญกับกายภาพของคู่ครองมักจะอาศัยอยู่ในสถานที่ที่มีเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคสูง ยังมีการศึกษาพบว่าผู้หญิงที่ตระหนักเรื่องโรคติดต่อมักจะชอบผู้ชายที่ดูมีกล้ามเนื้อมีลักษณะเพศชายสูงกว่า ไม่ใช่แค่การเดาสุ่มๆ เพราะมีหลักฐานการทดลองที่สนับสนุนความเชื่อมโยงระหว่างแนวคิดความดึงดูดของผู้ชายกับโรคระบาดด้วย โดยการทดลองนี้ได้ให้อาสาสมัครผู้หญิงส่วนหนึ่งถูกกระตุ้นให้รับรู้ถึงเชื้อโรคด้วยวีการต่างๆ เช่น ให้ดูผ้าขาวเปื้อนเลือด หลังจากนั้นให้อาสาสมัครผู้หญิงทั้งหมดเลือกใบหน้าผู้ชาย ปรากฏว่าอาสาสมัครผู้หญิงที่ได้รับการกระตุ้นให้รับรู้ถึงเชื้อโรคจะเลือกผู้ชายที่มีลักษณะความเป็นชายมากกว่าอาสาสมัครที่ไม่ได้รับการกระตุ้น

        และยังมีงานวิจัยหลากหลายที่บอกว่าคนเราสามารถรับรู้การตอบสนองภูมิคุ้มกันของยีนได้เหมือนกับการรับรู้กลิ่น โดยที่จุลินทรีย์ในร่างกายทำให้เรามีกลิ่นตัวไม่เหมือนกัน อีกหนึ่งการทดลองที่น่าสนใจคือ ให้อาสาสมัครใส่เสื้อผ้าฝ้ายติดต่อกัน 2 คืนโดยห้ามใช้สบู่หรือฉีดน้ำหอม หลังจากนั้นถอดมาใส่ขวดที่ไม่มีป้ายชื้อ แล้วจึงให้แต่ละคนเลือกกลิ่นที่ชอบ ผลปรากฏว่าอาสาสมัครมักจะชอบเสื้อผ้าฝ้ายของคนที่มียีนตอบสนองภูมิคุ้มกันต่างกับของตัวเองที่สุด ความเป็นไปได้คือในอดีตเราเผชิญหน้ากับโรคระบาดจนมาถึงปัจจุบัน พัฒนาการทำให้เราสามารถสูดดมรับรู้กลิ่นที่แตกต่างได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราเลือกคู่ครองจากกลิ่นตัวเพียงอย่างเดียว

 

” มีงานวิจัยหลากหลายที่บอกว่าคนเราสามารถรับรู้การตอบสนองภูมิคุ้มกันของยีนได้เหมือนกับการรับรู้กลิ่น โดยที่จุลินทรีย์ในร่างกายทำให้เรามีกลิ่นตัวไม่เหมือนกัน “

 

        หากพูดถึงระบบนิเวศ เราจะนึกถึงระบบนิเวศป่าไม้เป็นอันดับต้นๆ ซึ่งประกอบไปด้วยต้นไม้ใบหญ้าและสิ่งมีชีวิตที่หลากหลาย ร่างกายของเราเองก็เป็นระบบนิเวศหนึ่งเช่นกัน ในร่างกายของเราประกอบไปด้วยสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าจุลินทรีย์ เป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่ทรงพลังไม่แพ้ใคร เป็นผู้ควบคุมร่างกายที่เรามองไม่เห็นด้วยตาเปล่า จุลินทรีย์บางชนิดมีส่วนในการพัฒนาสมองและภูมิคุ้มกัน จุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในลำไส้ของเรามีอิทธิพลต่อความเสี่ยงของการเกิดโรคอ้วน หรือแม้กระทั่งภาวะซึมเศร้า และอาจมีบทบาทในการควบคุมพฤติกรรมของเราด้วย มีการทดลองนำจุลินทรีย์ของหนูตัวหนึ่งไปใส่ในหนูอีกตัว ทำให้ได้ผลที่น่าทึ่งคือหนูตัวที่ได้รับจุลินทรีย์จากเพื่อนหนูตัวแรกมีพฤติกรรมเลียนแบบหนูเจ้าของจุลินทรีย์ด้วย

        ถ้าถามว่าเราชอบใครคนหนึ่งเพราะอะไร ทำไมเราจึงตกลงปลงใจและเลือกรัก “เขา” หรือ “เธอ” แทนที่จะเป็นคนอื่นอีกหลายร้อยหลายล้านคนบนโลก นักวิทยาศาสตร์ส่วนหนึ่งอาจให้คำตอบว่าชอบเพราะจุลินทรีย์ในร่างกายก็ได้ ใครจะไปรู้

 

อ้างอิง

https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/21123269/
https://ideas.ted.com/how-your-microbes-influence-your-love-life/

โนริสาหร่าย อาหารที่ดีกับร่างกายและโปรไบโอติกส์

author : วิลสัน วันเดอร์แลนด์

READ

Date : 26 Jan 2021

        ถ้าเล่าง่ายๆ พรีไบโอติกส์คืออาหารของจุลินทรีย์ดีโปรไบโอติกส์ ส่วนใหญ่แล้วเราจะรู้จักพรีไบโอติกส์ในลักษณะที่เป็นพืชหัวอย่างหัวหอม กระเทียม ถั่วเหลือง แต่ด้วยการสังเกตและทดลองของนักวิทยาศาสตร์ ทำให้เราได้รู้ว่าสาหร่ายทะเลแบบที่คนญี่ปุ่นและหลายคนรู้จักในชื่อ โนริ ก็ช่วยให้จุลินทรีย์ในลำไส้เติบโตได้

       เมนูแรกที่เรานึกออกเมื่อพูดถึงสาหร่ายทะเลหรือโนริสาหร่ายคือ ซูชิ รวมไปถึงอาหารญี่ปุ่นประเภทต่างๆ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์สแตนฟอร์ด ได้แลกเปลี่ยนผลการวิจัยที่บอกว่า คาร์โบไฮเดรตเฉพาะที่ในสาหร่ายโนริสามารถช่วยกระตุ้นการเติบโตของโปรไบโอติกส์บางสายพันธุ์ได้

       จุลินทรีย์ดีในลำไส้เจริญเติบโตเพราะอาหารต่างๆ ที่เรารับประทานเข้าไป หากเรารับประทานอาหารที่จุลินทรีย์ดีโปรไบโอติกส์ชื่นชอบและเป็นอาหารของจุลินทรีย์ดี จะทำให้จุลินทรีย์ดีเพิ่มจำนวน และดูแลระบบทางเดินอาหาร ไปจนถึงระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยให้ผู้คนมีสุขภาพดี ต่อสู้กับเชื้อโรคได้ นอกจากสาหร่ายทะเลจะสามารถเพิ่มจำนวนจุลินทรีย์โปรไบโอติกส์แล้ว ยังมีความเป็นไปได้ที่จะสร้างจุลินทรีย์ในร่างกายของเราขึ้นมาใหม่ด้วย

PIC A Photo by Elli from Pexels

        ผู้เชี่ยวชาญยังอธิบายต่อว่าคาร์โบไฮเดรตเฉพาะในโนริสาหร่ายที่ช่วยกระตุ้นการเติบโตของโปรไบโอติกส์ ยังทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระด้วย ซึ่งอนุมูลอิสระจัดว่าเป็นสารอันตรายที่อาจทำลายเซลล์ของเราและเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ เช่น มะเร็ง เบาหวาน รวมถึงโรคหัวใจ นอกจากต้านอนุมูลอิสระแล้ว พอลิฟีนอล (polyphenols) ที่อุดมอยู่ในสาหร่ายทะเลยังช่วยลดการอักเสบซึ่งเป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยเรื้อรังหลายประเภท

       พอลิฟีนอลในสาหร่ายทะเล ยังสามารถทำปฏิกิริยากับจุลินทรีย์ในลำไส้เพื่อเพิ่มจุลินทรีย์โปรไบโอติกส์หลายสายพันธุ์อย่าง Bifidobacterium, Lactobacillus, Bacteroides , Enterococcus, Akkermansia muciniphila และFecalibacterium prausnitzii

        ไม่ใช่แค่อาหารญี่ปุ่น สาหร่ายทะเลยังถูกนำมาทำอาหารเกาหลีอย่างกิมจิด้วย เมื่อเรารับประทานกิมจิที่มีส่วนผสมของอาหารทะเล เป็นเวลา 4 สัปดาห์จะช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตไปจนถึงการอยู่รอดของกรดแลคติคและจุลินทรีย์ในลำไส้ของเรา เรายังสามารถนำสารสกัดของสาหร่ายทะเลสีแดงมาปรับแต่งเพื่อสร้างเจลาตินแทนเจลาตินจากสัตว์

        ในอดีตสาหร่ายทะเลยังมีการใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์อีกด้วย เพราะสามารถช่วยปรับจำนวนประชากรจุลินทรีย์สายพันธุ์ Bifidobacterium longum, Lactobacillus acidophilus, Streptococcus salivarius และ Clostridium perfringens ในลำไส้ของสัตว์กระเพาะเดี่ยวได้ เรียกว่าโนริสาหร่ายจัดเป็นทางเลือกในการรับประทานพืชผักกลุ่มพรีไบโอติกส์เพื่อเสริมจุลินทรีย์ดีโปรไบโอติกส์ได้อีกทาง

 

อ้างอิง

https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6627129/

https://med.stanford.edu/news/all-news/2018/05/scientists-use-dietaseaweed-to-manipulate-gut-bacteria.html

ท้องผูก เปิดเคล็ดลับช่วยขับถ่ายแบบที่ไม่ต้องออกแรงและไม่ทำร้ายลำไส้

author : วิลสัน วันเดอร์แลนด์

READ

Date : 14 Jan 2021

        ขับถ่ายน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ หรืออุจจาระเป็นก้อนแข็งเหมือนลูกกระสุนมากกว่า 1 ใน 4 ครั้ง

        ขับถ่ายได้ยากหรือไม่ได้เลยหากไม่พึ่งยาระบาย และไม่สบายตัวแม้ว่าจะขับถ่ายแล้วก็ตาม หากมีอาการใดอาการหนึ่งนั่นแปลว่าเรา ท้องผูก เสียแล้ว คุณจูเลีย แอนเดอร์ส ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินอาหารจากเยอรมนีได้เขียนอธิบายไว้ในหนังสือชื่อ เคล็ดลับอายุยืนจากลำไส้ที่หมอไม่เคยบอกคุณ

        คุณจูเลียเล่าว่าอาการท้องผูกเป็นผลมาจากเส้นประสาทและกล้ามเนื้อของลำไส้ทำงานไม่สอดคล้องกัน

        คือการลำเลียงอาหารที่กินเข้าไปจนถึงการย่อยอาหารยังปกติดีทุกขั้นตอน แต่เมื่อถึงขั้นตอนขับถ่ายที่ปลายลำไส้ใหญ่ เส้นประสาทและกล้ามเนื้อกลับตกลงกันไม่ได้ว่าจะปลดปล่อยออกมาดีหรือไม่ ถ้าถามว่าแค่ไหนเรียกท้องผูก สำคัญคือไม่ใช่จำนวนครั้งในการขับถ่าย แต่เป็นความยากในการขับถ่ายแต่ละครั้งต่างหาก คุณจูเลียเน้นย้ำและแบ่งปันเคล็ดลับสำหรับคนที่ขับถ่ายยากเอาไว้

        ใยอาหาร กระตุ้นให้ผนังลำไส้ทำงานได้

        เคล็ดลับแรกจากหนังสือโดยคุณจูเลียอธิบายเพิ่มเติมว่าใยอาหารจะไม่ถูกย่อยในลำไส้เล็กและเดินทางไปลำไส้ใหญ่เพื่อบอกกับลำไส้ของเราให้ขับถ่ายตามที่ควรจะเป็น อาหารบางอย่างไม่ได้มีแต่ใยอาหารแต่ยังช่วยดูดน้ำกลับเข้ามาที่ลำไส้ ทำให้ขับถ่ายได้ง่ายขึ้นด้วย และแน่นอนว่าการรับประทานใยอาหารจะไม่เห็นผลหากเราดื่มน้ำไม่เพียงพอ เพราะน้ำจะช่วยให้ใยอาหารพองตัวไม่จับกันเป็นก้อนแข็ง และเมื่อร่างกายขาดน้ำ ลำไส้ก็จะไปดึงน้ำในอาหารที่รับประทานเข้าไปทำให้อุจจาระแข็งขึ้น

        ถัดจากดื่มน้ำ เคล็ดลับต่อมาคืออย่าอั้นเมื่อรู้สึกปวดท้องอยากเข้าห้องน้ำ หากใครขับถ่ายเป็นกิจวัตรทุกวันได้ก็ยิ่งดี เพราะลำไส้เป็นอวัยวะที่ชอบทำงานตามแผน และหากยิ่งอุจจาระอยู่ในลำไส้นานขึ้นก็จะยิ่งถูกดูดน้ำออกไปทำให้ขับถ่ายยากขึ้นด้วย คุณจุเลียยังบอกอีกว่าการรับประทานโปรไบโอติกส์และพรีไบโอติกส์ก็เป็นเคล็ดลับที่ช่วยให้ขับถ่ายง่ายขึ้น เพราะเมื่อเรารับประทานโปรไบโอติกส์จะช่วยเพิ่มจุลินทรีย์ดีให้กับลำไส้ของเรา เมื่อลำไส้ที่ต้องทำงานหนักมีจุลินทรีย์ดีเข้าไปช่วยปรับสมดุลก็จะทำให้ลำไส้ทำงานได้ดีขึ้น ไม่ต้องทนอยู่ในห้องน้ำเป็นชั่วโมงหรือรับประทานยาระบายที่ทำให้ลำไส้มีปัญหาตามมาอีกต่อไป

จากอึถึงห้อง lab ความรุนแรงของไวรัสและจุลินทรีย์ในกระเพาะอาหาร

author : วิลสัน วันเดอร์แลนด์

READ

Date : 13 Jan 2021

        จุลินทรีย์ในลำไส้สัมพันธ์กับระดับความรุนแรงของอาการในผู้ป่วยโควิด 19 รวมถึงการตอบสนองต่อระบบภูมิคุ้มกัน

        บทความล่าสุดจากสำนักข่าวรอยเตอร์ส (Reuters) เกี่ยวกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ค่อนข้างน่าสนใจทีเดียว แม้ว่า COVID-19 จะเป็นโรคที่ส่งผลกระทบกับทางเดินหายใจเป็นส่วนใหญ่ แต่มีหลักฐานมากมายที่บอกว่าทางเดินอาหารของเราเกี่ยวข้องกับโควิด โดยสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กในลำไส้ของเราอาจอย่างจุลินทรีย์ อาจมีผลต่อความรุนแรงของ COVID-19 รวมถึงตอบสนองต่อภูมิคุ้มคันในร่างกายของเรา

        ผลวิจัยชิ้นนี้ใช้วิธีการทดลองจากอุจจาระและเลือดของผู้ป่วย 100 รายที่ติดเชื้อไวรัสโคโรน่า ความน่าสนใจคือมีการพบว่าจุลินทรีย์ในลำไส้ผู้ติดเชื้อมีความแตกต่างกับลำไส้ผู้ที่ไม่ติดเชื้ออย่างมาก คำถามคือแตกต่างแบบไหน ซึ่งดร.Siew Ng จาก CUHK มหาวิทยาลัยชั้นนำด้านการวิจัยในฮ่องกง ได้อธิบายไว้อย่างง่ายว่า ผู้ป่วยโควิดมักจะขาดจุลินทรีย์ดีในระบบทางเดินอาหาร คือระบบทางเดินอาหารของเรามีจุลินทรีย์ทั้งดีและไม่ดีอาศัยอยู่ หนึ่งในนั้นยังรวมถึงจุลินทรีย์ที่ส่งผลกับระบบภูมิคุ้มกันของเราซึ่งอาศัยอยู่ในลำไส้หลากหลายสายพันธุ์นับล้านล้านตัว ที่เราคุ้นเคยเช่น Bifidobacterialและเชื้อจุลินทรีย์ดีอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งจุลินทรีย์ดีเหล่านี้พบได้น้อยมากในลำไส้ของผู้ป่วย

        ดร.Siew Ng ยังบอกอีกว่าแม้จะหายจากอาการป่วย โบกมือบอกลาไวรัสไปเรียบร้อยแล้ว จุลินทรีย์ในลำไส้ก็จะยังไม่กลับมาเป็นปกติในทันที ผู้ป่วยส่วนหนึ่งที่หายป่วยแล้วยังคงมีอาการต่อเนื่องหลังจากนั้น เช่น อ่อนเพลีย หายใจลำบาก และปวดตามข้อ ซึ่งอาจมีอาการอยู่นานกว่า 2 เดือนครึ่งเลยทีเดียว นอกจากศึกษาจุลินทรีย์ในลำไส้ของผู้ป่วยโควิดจากอุจจาระและเลือดแล้ว ทีมวิจัยยังได้พัฒนาสูตรโปรไบโอติกส์ จุลินทรีย์ดีที่มีชีวิตขึ้นมาเพื่อเพิ่มความสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้อีกด้วย

        จากผลสรุปของการศึกษาผู้ป่วยโควิด 100 คนครั้งนี้ ทำให้เรารู้ว่าความสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ส่งผลต่อสุขภาพและภูมิคุ้มกันของเราไม่น้อย อีกทั้งเชื่อมโยงกับโรคอักเสบภายในและภายนอกลำไส้ด้วย เมื่อจุลินทรีย์ดีในลำไส้สมดุล ร่างกายก็จะมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงเช่นกัน

 

อ้างอิง

https://www.reuters.com/article/us-health-coronavirus-science-idUSKBN29I2Y9?utm_source=twitter&utm_medium=Social

https://gut.bmj.com/content/early/2021/01/04/gutjnl-2020-323020

เรื่องของตดกับลำไส้และจุลินทรีย์ของคนชอบกิน

author : วิลสัน วันเดอร์แลนด์

READ

Date : 13 Jan 2021

        เมื่อ “ตด” เริ่มเข้ามารบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน

        โดยปกติแล้วคนที่มีสุขภาพแข็งแรงจะปล่อยแก๊สที่บางคนเรียกตดหรือผายลมออกมาประมาณ 1 ลิตรต่อวัน ผายลม ชื่อบอกว่าลม แต่เกิดจากมีแก๊สในลำไส้มากเกินไป ส่วนใหญ่จะรู้สึกท้องอืด อาหารไม่ย่อยหรือท้องผูกตามมาด้วย นับว่าเป็นปัญหาด้านสุขภาพอันดับต้นๆ และการผายลมมากเกินไปก็เป็นหนึ่งปัจจัยหลักจากระบบทางเดินอาหารที่ทำให้หลายคนถึงกับต้องไปพบแพทย์เลยทีเดียว

        แม้ว่า ตด จะดูเป็นเรื่องตลก แต่เมื่อได้รู้ว่ามีคนต้องเข้ารับการรักษาเพราะตดบ่อยเกินไป ทำให้เรากลับมาคิดว่าไม่ใช่แค่ความน่าอายจากเสียงหรือกลิ่นแต่การผายลมยังกระทบไปถึงสุขภาพของเราด้วย ซึ่งหากรุนแรงมาก ก็อาจเป็นหนึ่งในอาการของโรคลำไส้แปรปรวน (IBS) ที่หลายคนรู้จักดี 

        คำถามคือแก๊สในลำไส้มาได้อย่างไร อันที่จริงมีหลายปัจจัย แต่สาเหตุอันดับแรกๆ เลยก็คือการรับประทานอาหาร ทุกมื้อที่เรารับประทานเข้าไปอาจเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างแก๊สได้ เหมือนกับที่เราเคยได้ยินว่า กินถั่วเยอะแล้วตดบ่อย นอกจากถั่วแล้วธัญพืชที่มีเส้นใยสูงอย่างโฮลวีต สารให้ความหวาน เช่น ฟรุกโตส  ซอร์บิทอล แม้กระทั่งอาหารสุขภาพอย่าง บร็อคโคลีผักตระกูลกะหล่ำ หัวหอม กระเทียม แน่นอนว่าต้องไม่ลืมพืชตระกูลถั่ว อาหารเหล่านี้ล้วนสร้างแก๊สในระบบทางเดินอาหารได้  

        ว่าไปแล้วหลายคนอาจคุ้นชื่อพืชผักเหล่านี้เพราะอยู่ในกลุ่มที่จัดเป็นพรีไบโอติกส์ (linkบทความพรีไบโอติกส์) คืออาหารของจุลินทรีย์ดีโปรไบโอติกส์ เมื่อเรากินถั่วเข้าไป เส้นใยที่ย่อยไม่ได้และไม่ถูกดูดซึมจะกลายมาเป็นอาหารของจุลินทรีย์หลายล้านล้านตัวในลำไส้ใหญ่ ส่วนที่เหลือเกิดการหมักในลำไส้และผลิตแก๊สที่หลายคนเรียกแก๊สไข่เน่าก่อนขับออกมาเป็นตดที่เราคุ้นเคย

        ที่น่าสนใจคือการรับประทานจุลินทรีย์ดีโปรไบโอติกส์คู่กับอาหารเหล่านี้สามารถลดความถี่และปริมาณการผายลมได้ เพราะว่าการรับประทานอาหารที่มีเส้นใยสูงจะมีประโยชน์แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับจุลินทรีย์ในลำไส้ของเราด้วย ดร.Fernando Azpiroz และทีมจากโรงพยาบาล Vall d’Hebron ได้ทำการทดลองให้คนวัยกลางคนที่มีสุขภาพดีรับประทานอาหารที่มีเส้นใยสูงเป็นเวลา 3 วัน สิ่งที่ตามมาผู้ทดลองมีอาการท้องอืด 

        หลังจากนั้นให้รับประทานนมหมักที่เติมโปรไบโอติกส์ลงไป โดยใช้เชื้อที่เป็นสายพันธุ์เด่นอย่าง Bifidobacterium  หลังจากดื่มนมหมักโปรไบโอติกส์ 28 วัน ผู้ทดลองก็พบว่าอาการท้องอืดลดลง การขับถ่ายสม่ำเสมอขึ้น แม้ว่าแก๊สในกระเพาะจะไม่ได้ลดลงก็ตาม นั่นหมายความว่าจุลินทรีย์ดีโปรไบโอติกส์เป็นหนึ่งในทางออกของปัญหา ตด ที่เข้ามารบกวนชีวิตประจำวันของเราได้

 

อ้างอิง

https://www.mdpi.com/2072-6643/12/2/320
https://isappscience.org/got-gas-blame-bacteria/

รู้จักจุลินทรีย์ในบ้าน สิ่งมีชีวิตที่ส่งผลต่อสุขภาพของอาคารและผู้คน

author : ภานุชิตชัย พล

READ

Date : 11 Jan 2021

        อาคารที่ปลอดเชื้อโรคมากที่สุดก็เป็นพาหะของโรคได้

       ในช่วงโควิดระบาด น้ำยาฆ่าเชื้อในบ้านเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า เพราะเราเชื่อว่าบ้านสะอาดจะเป็นบ้านที่ปลอดเชื้อ แต่ชุดข้อมูลที่เราเพิ่งได้อ่านเจอทำให้ต้องเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ ถ้าเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์จะพบว่าชาวตะวันตกใช้เวลา 90 เปอร์เซ็นต์ในบ้าน และชาวอเมริกันใช้เวลา 93 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว ซึ่งการระบาดของไวรัสก็มักเกี่ยวโยงกันกับการขาดอากาศถ่ายเทภายในอาคาร แสงแดดส่องไม่ถึง อุณหภูมิความชื้น มลพิษทางอากาศภายในอาคาร และอีกปัจจัยที่สำคัญเลยคือจุลินทรีย์ในสภาพแวดล้อม

        จุลินทรีย์หลายล้านล้านตัว ทั้งแบคทีเรีย เชื้อรา ไวรัสอยู่รอบตัวเราและปกคลุมอยู่บนตัวเรานับไม่ถ้วน ย้อนไปเมื่อ 15 ปีที่แล้ว นักวิทยาศาสตร์ให้ความสนใจจุลินทรีย์ภายในอาคารว่ามีจุลินทรีย์อะไรอยู่ในบ้านเราบ้าง จนได้ค้นพบระบบนิเวศของจุลินทรีย์ ผู้เชี่ยวชาญยังเชื่ออีกว่า เราจะสามารถเลี้ยงจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ภายในอาคารเหมือนกับที่ชาวนาปลูกข้าวได้ นับเป็นแนวคิดที่น่าสนใจไม่น้อย ในร่างกายของมีจุลินทรีย์อาศัยอยู่ ช่วยสร้างวิตามิน ฮอร์โมนและสารอื่นๆ ที่มีสำคัญต่อระบบภูมิคุ้มกัน การเผาผลาญ อารมณ์และอีกมากมาย ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา จุลินทรีย์ของเราได้มีการเปลี่ยนแปลง ด้วยปัจจัยต่างๆ อย่างการรับประทานอาหารที่ไม่ดี การได้รับยาปฏิชีวนะมากเกินไป การลดการสัมผัสกับจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในธรรมชาติ

        ไม่ใช่แค่ร่างกาย อาคารที่เราอาศัยอยู่ก็เต็มไปด้วยจุลินทรีย์ ในการสูดหายใจเข้าแต่ละครั้งเราจะนำออกซิเจนเข้าถุงลมปอดพร้อมกับจุลินทรีย์หลายร้อยหลายพันชนิด แต่ละสถานที่ถูกห้อมล้อมไปด้วยจุลินทรีย์ จนพูดได้ว่าอาคารบ้านเรือนมีประชากรจุลินทรีย์จำนวนมากกว่านกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่บนโลก ที่น่าสนใจคือนักวิจัยได้พบว่าอากาศภายในอาคารมีความเข้มข้นของจุลินทรีย์และไวรัสเกือบเท่าๆ กัน ซึ่งไวรัสส่วนใหญ่ไม่เป็นอันตราย และบางชนิดอาจเป็นประโยชน์ด้วย

Photo by Daria Shevtsova from Pexels

        จุลินทรีย์ที่ปกคลุมร่างกายเราแพร่กระจายไปตามสถานที่ที่เราอยู่ ตั้งแต่ปลอกหมอน แปรงสีฟัน ไปจนถึงฝักตัวเตาอบและตู้แช่แข็ง ถ้าเราเข้าพักที่โรงแรม จุลินทรีย์ในร่างกายเราจะใช้เวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมงเพื่อตั้งรกรากในห้องที่เราจองศาสตราจารย์ Jack Gilbert นักวิจัยด้านจุลินทรีย์ประจำมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย แซนดีเอโก แลกเปลี่ยนความคิดเห็นไว้ว่าการปิดรถโดยสารสาธารณะเพื่อพ่นยาฆ่าเชื้อไม่ส่งผลต้านไวรัส เพราะเมื่อมีผู้โดยสารมาใช้บริการจุลินทรีย์ในคนเหล่านั้น อาจเป็นคนที่ติดเชื้อ สามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วจากการไอหรือจาม นอกจากนี้ความเสี่ยงอีกอย่างหนึ่งจากการฆ่าเชื้อในสภาพแวดล้อม คือเราอาจจะฆ่าจุลินทรีย์ที่มีความสำคัญต่อสุขภาพโดยไม่ตั้งใจ รวมถึงอาจทำให้เชื้ออื่นๆ ดื้อยาและยิ่งอันตรายขึ้น

        คุณ Rob Knight ผู้อำนวยการก่อตั้งศูนย์นวัตกรรมจุลินทรีย์ ยังบอกอีกเช่นกันว่าหากเรากำจัดจุลินทรีย์ทั้งหมดที่มีอยู่ตามธรรมชาติมากเกินไป อาจเป็นการสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับจุลินทรีย์ไม่ดีหรือไวรัสที่กำจัดได้ยากกว่า บนโลกนี้มีความสมดุลสุขอนามัยตามธรรมชาติ แต่ปัจจุบันการทำความสะอาดอย่างสุดขั้ว ใช้สารเคมีรุนแรง ในขณะที่สามารถใช้เพียงสบู่และน้ำได้ รวมถึงการเพิ่มสารต้านแบคทีเรียในชุดชั้นในหรือแม้แต่เครื่องสำอาง ยิ่งใช้สารทำความสะอาด จุลินทรีย์ก็ยิ่งมีโอกาสดื้อยา หากบ้านหรืออาคารที่เราอยู่ระบายอากาศได้ไม่ดี มลพิษจะซึมเข้าไปและติดอยู่ในอาคาร ทำให้อากาศข้างในแย่กว่าข้างนอก

       การรักษาสมดุลจุลินทรีย์ในอาคารบ้านเรือน ก็เหมือนกับที่เรากินโยเกิร์ตเพื่อจะเติมโปรไบโอติกส์ให้สุขภาพแข็งแรง โยเกิร์ตของอาคารก็คือการเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเทนั่นเอง

 

อ้างอิง

https://www.bloomberg.com/news/features/2020-12-16/covid-pandemic-microbiomes-could-be-key-to-stopping-spread-of-future-viruses?utm_medium=social&utm_campaign=socialflow-organic&cmpid=socialflow-twitter-businessweek&utm_content=businessweek&utm_source=twitter